เนื่องจากตอบคำถามเรื่องนี้บ่อย รวมถึงมีการหาข้อมูล และอ่านมาค่อนข้างเยอะ จึงนำมาเขียนเป็นบทความยาวๆ หลายๆ ตอน ให้ทำตามกันง่ายๆ บทความนี้เหมาะสำหรับคนที่อยากเข้าระบบจ่ายให้ถูกต้อง (ไม่เหมาะสำหรับคนพยายามเลี่ยงภาษี)
การยื่นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา เป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ การขายของออนไลน์ ทุกช่องทาง เกิดรายได้ ทำให้เรามีหน้าที่ต้องยื่นตามกฏหมาย
การยื่นภาษี ไม่ได้หมายถึงคุณต้องจ่ายภาษี คร่าวๆ แล้ว มีรายได้มากกว่า 520,000 ต่อปี โดยไม่มีลดหย่อนอะไรเพิ่มเลย คุณไม่ได้จ่ายภาษี (แต่ถ้าไม่ยื่น มีความผิด)
ซึ่งตกเฉลี่ยเดือนละ 43,333 บาท (อ้างอิงจาก การยื่นภาษีแบบเหมาจ่าย 60%) รายได้ทั้งปี 520,000 เมื่อหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% เหลือ 208,000 แล้วยังหักลดหย่อนบุคคล (ได้ทุกคน) 60,000 เหลือ 148,000 บาท ซึ่งไม่ถึงเกินจ่ายภาษี (เกณฑ์จ่าย ปี 2561 อยู่ที่เงินรายได้สุทธิเกิน 150,000 บ)
บทความนี้จะเหมาะสำหรับผู้ต้องทำการแบบหักเหมาจ่าย มาเตรียมตัวไปพร้อมๆ กัน เพื่อง่ายต่อการยื่น และ ง่ายต่อการเตรียมเอกสาร หรือ ถูกสรรพากรเรียกเข้าพบ
ตอนที่ 1 เตรียมบัญชี (หลักฐานรายรับของคุณ)
เตรียมบัญชีธนาคารให้เป็นระบบ เปิดในชื่อเดียวกัน หรือ ชื่อร้าน เพื่อให้ง่ายต่อการแจ้งบัญชีลูกค้า และ ง่ายต่อการ ใช้จ่ายและแสดงเป็นบัญชีร้าน (มีที่มาที่ไป)
- แยกบัญชีส่วนตัว และ บัญชีธุรกิจชัดเจน ไม่เอาเงินมารวมกัน
- บัญชีธุรกิจ แยกเป็น
- กลุ่มบัญชีรับเงิน ซึ่งอาจจะมีหลายธนาคารเพื่อความสะดวกของลูกค้า และ คุณเองก็ต้องสะดวกในการเช็คยอด เมื่อรับเงินเข้ามาจากการขายสินค้า (เปิด internet banking ทุกบัญชี)
- บัญชีจ่ายเงิน บัญชีเดียว โดยเลือกบัญชีจ่ายเป็นบัญชีที่คุณสะดวกที่สุดในการใช้จ่ายต่างๆ และทุกๆ สิ้นเดือน (หรือวันที่คุณกำหนดเอง) ให้ถอนจากทุกบัญชีรับ นำมารวมกัน เพื่อมาฝากเข้าบัญชีเงินจ่าย โดยใช้วิธีถอนมาฝากหากมีหลายบัญชี หรือ หลายธนาคาร เพราะจะได้ไม่เป็นยอดฝากหลายยอด (เปิด internet banking)
- ดาวน์โหลด สเตทเม้นท์ จาก internet banking ของทุกบัญชีธนาคาร แยกเป็นรายเดือน บัญชีละ 12 เดือน เก็บในรูปแบบ PDF แนะนำให้ดาวน์โหลด ทุกๆ 3 เดือน เนื่องจาก internet banking จะอนุญาตให้ดูย้อนหลังได้ไม่เกิน 4 – 6 เดือน
เมื่อบัญชีรายรับของคุณเป็นระบบแบบนี้แล้ว ไม่ว่าคุณค้าขายกี่ช่องทาง เงินก็เข้ามารวมในบัญชีของคุณอยู่ดี ไม่ต้องไปตามเก็บว่า ยอดจากเฟซบุ๊คเท่าไร ยอดจากเว็บเท่าไร ยอดจาก Shopee และ Lazada เท่าไร มันจะปวดหัวเกินไป ถ้าคุณไม่ทำเป็นระบบ และ เมื่อนำรายรับเข้ารวมกันทุกบัญชี คุณก็จะได้ยอดรายรับต่อปี เพื่อไปคำนวณอย่างง่ายดาย
รวมถึงเป็นการตรวจสอบเงินได้ของคุณตลอดด้วย เพราะหากเมื่อไร ยอดรวมเกิน 1.8 ล้านต่อปี กฏหมายบังคับให้คุณจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งจะมีความยุ่งยากกว่าเดิม อาจจะต้องไตร่ตรองในการปรับเป็นนิติบุคคลเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านภาษีลง
อ่านตอนต่อไป “ตอนที่ 2” เตรียมเอกสารลดหย่อน
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.